![]() |
เพชรซาอุ |
ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ถึงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2532 นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายแรงงานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ทำการลักทรัพย์สินและเครื่องประดับอัญมณีจำนวนหลายรายการ มีมูลค่ากว่า 502 ล้านบาท ไปจากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุล อาซิซ (Prince Faisal Bin Fahd Bin Abdul Aziz) ก่อนที่จะมีการลักลอบนำมาจำหน่ายต่อยังประเทศไทย แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นานคดีโจรกรรมข้ามชาติดังกล่าวก็ถูกเปิดโปง พลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุดในการติดตามจับกุมคนร้ายและนำเพชรมาคืนให้กับเจ้าของเดิม การสืบสวนดำเนินไปอย่างรัดกุมและรวดเร็ว
![]() |
นายเกรียงไกร เตชะโม่ง |
10 มกราคม 2533 ทีมสืบสวนสามารถจับกุมตัวนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ผู้ต้องหาในคดีได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมทั้งยึดเพชรของกลางคืนได้จำนวนหนึ่ง ในขณะที่บางส่วนได้ถูกจำหน่ายไปแล้ว ต่อมาศาลได้พิพากษาตัดสินให้จำคุกนายเกรียงไกรเป็นเวลา 5 ปี
![]() |
พลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ |
21 มีนาคม 2533 เจ้าหน้าที่ได้ทำการส่งเพชรของกลางทั้งหมดคืนให้กับทางการซาอุดิอาระเบีย แต่เบื้องหลังความซับซ้อนของคดีเพชรซาอุดิอาระเบียยังไม่จบสิ้น เมื่อทางการซาอุดิอาระเบียได้มีหนังสือด่วนถึงรัฐบาลไทยมีใจความระบุว่า เพชรที่ส่งคืนมานั้นไม่ครบถ้วน และมีบางส่วนมีของปลอมปะปน โดยของจริงที่ได้คืนมามีมูลค่าเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น
10 มกราคม 2534 พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และต่อมาได้มีคำสั่งลงนามให้สอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงกับพลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ และคณะทำงานสืบสวนคดีโจรกรรมเพชรซาอุรวม 8 นาย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในขณะที่การติดตามคืนเพชรของจริงให้ทางการซาอุดิอาระเบียยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคดีฆาตกรรมซ่อนเงื่อน
![]() |
นางดาราวดีและเด็กชายเสรี ศรีธนะขันธ์ |
เวลา 2 นาฬิกา วันที่ 1 สิงหาคม 2537 เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงหินกอง จังหวัดสระบุรี ได้รับแจ้งเหตุรถเฉี่ยวชน มีผู้เสียชีวิตจำนวนสองคน บนถนนมิตรภาพช่วงกิโลเมตรที่ 119 - 120 อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แต่เมื่อดูสภาพแล้วไม่เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดา จึงได้แจ้งพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธร อำเภอแก่งคอยให้มาตรวจที่เกิดเหตุ
![]() |
ครอบครัวศรีธนะขันธ์ |
![]() |
พันตำรวจโทพันศักดิ์ มงคลศิลป์ |
![]() |
ชลอ เกิดเทศมอบตัว |
14 กันยายน 2537 พลตำรวจโทชลอ เกิดเทศซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีสังหารนางดาราวดีและเด็กชายเสรี ศรีธนะขันธ์ ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีฆาตกรรม โดยในเวลาต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ กับพวกรวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์โดยไตรตรองไว้ก่อน
![]() |
เพชรที่วางทิ้งไว้ในที่ลับตา |
13 ตุลาคม 2537 พลตำรวจเอกพจน์ บุนยะจินดา อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเพชรซาอุ พร้อมกับตั้งศูนย์เฉพาะกิจ โดยได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ ให้ผู้ครอบครองเพชรซาอุนำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปรากฏว่ามีผู้แอบนำมามอบด้วยวิธีการต่างๆ เช่น วางไว้ในสถานที่ลับตาคนแล้วโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จนกระทั่ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 จึงได้ทำการปิดศูนย์เฉพาะกิจดังกล่าว พร้อมทั้งแถลงผลงานในการติดตามเครื่องเพชรได้คืนมา 105 รายการ จำนวน 605 ชิ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท และได้ทำการส่งคืนให้กับทางการซาอุดิอาระเบียในเวลาต่อมา เพื่อเป็นการบรรเทาและลดความตึงเครียดระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภาพพจน์ความน่าเชื่อถือของคนไทยและตำรวจไทยที่ต้องสูญเสียไปในสายตาของชาวต่างประเทศ
บทความแนะนำ