1. ชื่อพายุจากเมืองไทย
หลายคนอาจสงสัยว่าเวลาตั้งชื่อพายุเป็นภาษาไทย ประเทศอื่นๆ เขาจะเข้าใจกันหรือ ไม่ต้องห่วงกับเรื่องนี้เพราะชื่อทั้งหมดได้รับการเสนอเข้าที่ประชุมของศูนย์เตือนภัยของพายุไต้ฝุ่นร่วมเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นทุเรียน กุหลาบ ชบา หรืออะไรก็ตามทุกประเทศเข้าใจร่วมกันแน่นอน
2. ประเทศที่เป็นผู้ตั้งชื่อพายุ
ในอดีต มีอยู่เพียงประเทศเดียวที่ตั้งชื่อพายุที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั่นก็คือสหรัฐอเมริกา เหตุผลเนื่องด้วยมีความเพียบพร้อมเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีด้านดาวเทียมตรวจสภาพอากาศมากที่สุด แต่ทุกวันนี้ประเทศสมาชิกก็มีหน้าที่ช่วยกันตั้งชื่ออย่างพร้อมเพรียง
3. เธอชื่อจูเลียต
เราไม่ได้พูดถึงวรรณกรรมเอกของโลกของวิลเลี่ยม เชกสเปียร์แต่อย่างใดแต่ ‘จูเลียต’ คือชื่อพายุโซนร้อนลูกแรกนั่นเอง เป็นที่สังเกตว่าชื่อของพายุจะเป็นชื่อของหญิงสาว เพียงเพื่อจะให้ดูลดความรุนแรงลง รวมถึงนักเดินเรือที่ตั้งชื่อเพื่อรำพึงรำพันถึงคนรัก
4. ลมสลาตัน
นี่คือชื่อเรียกพายุที่มีความรุนแรงขั้นสูงหรือพายุช่วงปลายฤดูฝนที่จะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองไทย ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นที่มาของคำศัพท์ ‘สะโพกสลาตัน’ ก็เป็นได้!!
5. มหันตภัยทอร์นาโด
หากจะพูดถึงพายุทอร์นาโดที่มีความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ24 ปีที่แล้วที่เขต Manikganj ประเทศบังกลาเทศ โดยสูญเสียประชากรไปประมาณ 1,300 คนเลยทีเดียว ซึ่งพายุลูกนั้นมีชื่อเท่ๆ ว่า Daulatpur-Saturia
6. เฮอริเคนกับแฟรงเกนสไตน์
พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้สร้างความเสียหายให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ซึ่งมันได้รับสมญานามว่า แฟรงเกน สตอร์ม เลียนแบบแฟรงเกน-สไตน์ ปีศาจในตำนาน เพราะเกิดขึ้นในช่วงฮัลโลวีนนั่นเอง
7. ฮอตสุดต้องยกให้นครพนม
โดยในรอบเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา มีพายุพัดผ่านประเทศไทยเกือบ 200 ลูกแต่ที่เราบอกว่าจังหวัดนครพนมเป็นบริเวณที่ฮอตฮิตที่สุดก็เพราะว่าเป็นจังหวัดที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุด! ได้รับความนิยมขนาดนี้ควรจะดีใจไหมเนี่ย!
8. Dust Bowl
คำศัพท์ดังกล่าวเป็นชื่อเรียกพายุฝุ่นหรือพายุทรายครั้งใหญ่ที่พัดใส่ที่ราบขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักวรรณกรรมเอกของโลกอย่างจอห์น สไตน์เบ็ค เอาไปใส่ในหนังสือของเขาหลายเล่ม
9. พายุสุริยะกับเลข 11
หากจะอธิบายกันง่ายๆ พายุสุริยะคือเปลวไฟขนาดใหญ่ที่พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์นั่นเอง ส่วนเลข 11 คือจำนวนรอบปีที่พายุสไตล์นี้จะเกิดขึ้นซึ่งหมายความว่าระหว่างปี 2011-2014 จะเกิดพายุสุริยะขึ้นอีกครั้ง แต่จะรุนแรงหรือไม่ต้องลุ้นกันเอาเอง
10. รับมือกับพายุ
ข้อนี้เป็นความรู้ที่ควรจะต้องจำเอาไว้โดยจะมีการแจ้งเตือน 2 ครั้ง ครั้งแรกคือแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง ซึ่งนั่นหมายถึงพายุจะมาใน 36 ชั่วโมง แต่หากแจ้งเตือนภัย... 24 ชั่วโมงก็มาแบบจัดเต็มแล้วล่ะ!
11. ตาพายุ
แม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกของพายุประเภทต่างๆ จะดูรุนแรง แต่ภายใต้ความน่ากลัวนั้นก็ยังมีบริเวณที่สงบที่สุดอยู่เช่นกัน เราจะเรียกจุดนั้นว่า‘ตาพายุ’ ใครที่เจอพายุแรงๆ ก็ฝ่าเข้าไปนั่งชิลล์ที่ตาพายุให้ได้ละกันเราขออวยพร!!!
12. พายุบนดาวเสาร์
นาซ่าเคยสร้างความฮือฮาจากยานอวกาศแคสสินี ที่ค้นพบพายุลูกใหญ่บนดาวเสาร์ ซึ่งนั่นทำให้อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศ ของดาวเสาร์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 66 องศาเซลเซียส... ไม่อยากจะนึกภาพเลยทีเดียว!
บทความแนะนำ
No comments:
Post a Comment